วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

จิตวิทยาการเรียนรู้
การเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญและจำเป็นในการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย สำหรับมนุษย์การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์โลก อื่น ๆ ดังพระราชนิพนธ์บทความของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ ที่ว่า "สิ่งที่ทำให้คนเราแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ ก็เพราะว่า คนย่อมมีปัญญา ที่จะนึกคิดและปฏิบัติสิ่งดีมีประโยชน์และถูกต้องได้ "
การเรียนรู้ช่วยให้มนุษย์รู้จักวิธีดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพการต่างๆ ได้ ความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์จะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จและความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์ด้วย นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น
  • คิมเบิล ( Kimble , 1964 ) "การเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
  • ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์ (Hilgard & Bower, 1981) "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์ "
  • คอนบาค ( Cronbach ) "การเรียนรู้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
  • พจนานุกรมของเวบสเตอร์ (Webster 's Third New International Dictionary) "การเรียนรู้ คือ กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้ ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"
  • ประดินันท์ อุปรมัย (2540, ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา(มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 15, หน้า 121) การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
·         จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมักมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได้
จิตวิทยาการศึกษา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียน เพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ จิตวิทยาการศึกษายังมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา การสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล  ครูอาจารย์จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษาเพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน  ดังนั้น ในเรียงความบทนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงจิตวิทยาการศึกษาระดับพื้นฐานที่ได้เรียนมาในภาคการศึกษานี้ ในฐานะนิสิตคณะครุศาสตร์ที่จะต้องจบการศึกษาออกไปเป็นครู
จิตวิทยาการศึกษาจะช่วยให้ครูอาจารย์มีความเข้าใจตัวในตัวผู้เรียนอย่างแจ่มแจ้ง เข้าใจธรรมชาติของพวกเขา ความคิดจิตใจและความต้องการของพวกเขา เข้าใจว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมสำหรับพวกเขา  เข้าใจว่าอะไรจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการศึกษาของพวกเขา  หรือสามารถกล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า จิตวิทยาการศึกษาทำให้ครูอาจารย์มีจิตวิทยาในการสอน
หากครูผู้สอนเข้าใจทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีบุคลิกภาพของผู้เรียนในวัยต่าง ๆ ตั้งแต่วัยแรกเกิด วัยอนุบาล ประถมฯ มัธยมฯ จนถึงอุดมศึกษา  จะทำให้ครูผู้สอนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับบุคคลแต่ละวัย ตามพัฒนาการทางร่างกาย ความคิด จิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้เรียนได้  และด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านนี้ จะทำให้ครูอาจารย์สามารถเล็งเห็นศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ภายในตัวผู้เรียน และช่วยผลักดันให้ผู้เรียนสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองได้  และสามารถให้คำแนะนำที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเขาได้จริง  และถ้าหากครูอาจารย์สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่เป็นเหมือนปุ่มสตาร์ทของผู้เรียนและสามารถทำให้ปุ่มสตาร์ทนี้ทำงานได้  มันจะเป็นแรงขับเคลื่อนผู้เรียนให้มุ่งไปในหนทางที่เขาใฝ่ฝันด้วยพลังจากภายในตัวของเขาเอง  ตลอดจนการประพฤติตนของครูเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่นักเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการสอนด้วยคำพูด 
นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ แล้ว ครูผู้สอนจะต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่ม ทั้งทางด้านระดับเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอน และในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม  ครูที่ใช้วิธีการเดียวกับผู้เรียนทุกคนเปรียบเสมือนหมอที่จ่ายยาตัวเดียวกันแก่คนไข้ทุกคนที่มารับการรักษา โดยไม่คำนึงถึงโรคประจำตัวหรือประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและมีอาการแพ้ยาย่อมไม่เหมือนผู้ป่วยทั่ว ๆ ไปฉันใด  ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็ย่อมแตกต่างจากผู้เรียนทั่ว ๆ ไปฉันนั้น  และการที่หมอเปิดเผยความลับของคนไข้ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เช่นไร